วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

พุทธมณฑลคู่ธานี ศรีนครปฐม


"ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน 
   สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า"


สวัสดีครับผู้อ่านทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ วันนี้ผมจะพาทุกคนไปพบกับแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งซึ่งมิได้เป็นเพียงแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้นแต่สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ สัตว์นานาชนิด  แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ใกล้บ้านผมมาก มากขนาดเดินไปประมาณ 10 นาทีก็ถึงแล้ว และแหล่งเรียนรู้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็คือคือ “พุทธมณฑล” นั่นเองครับ ^^  ไม่รอช้า....เราไปทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้กันเลยดีกว่าครับ 


ประวัติและความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2495 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2500 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ณ สถานที่ซึ่งต่อมาเป็น อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครชัยศรีและต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอพุทธมณฑลตามลำดับ) การก่อสร้างได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่การจัดสร้างได้ชะลอตัวลงไประยะหนึ่งด้วยปัญหาด้านงบประมาณ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ ได้รื้อฟื้นโครงการขึ้นและถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนงานจัดสร้างพุทธมณฑลจากกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศาสนาเป็นเจ้าของเรื่องใช้เงินงบประมาณของรัฐและการบริจาคของประชาชน อีกทั้งการจัดสร้างพุทธมณฑลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้งานก่อสร้างพุทธมณฑลได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้การก่อสร้างได้สำเร็จก้าวหน้าไปอย่างมาก   การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อสร้างองค์ "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525 และหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอดเช่น มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และ หอประชุม เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง

เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
เพื่อเป็นสำนักงานกลางการบริหารงานของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย
เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา


ปัจจุบันพุทธมณฑล  ตั้งอยู่ที่   หมู่ 6ถนนอุทยาน ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่  จุดเด่นของพุทธมณฑลคือ บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะสำริด มีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 15.875 เมตร) ซึ่งเป็นพระประธานของพุทธมณฑล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" เมื่อเรามองจากด้านนอกจะเห็นเด่นเป็นสง่ามากซึ่งถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นสถานที่แห่งนี้เลยก็ว่าได้ และนอกจากนี้บริเวณรอบประประธานยังมีสถานที่สำคัญทางบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอื่นๆอีกมากมาย เช่น


"สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล"  ซึ่งหาไม่ยากเพราะมีป้ายนำตลอดทุกเส้นทาง
“ตำบลประสูติ" ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่างๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล, มคธ-อังคะ, สักกะ วัชชี, มัลละ, วังสะ, กุรุ
"ตำบลตรัสรู้" ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง
"ตำบลปฐมเทศนา" ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
"ตำบลปรินิพพาน" ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม


มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน
สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าผ่านภาพวาด



หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา
 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้าง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ
นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุมทางกิจการพระพุทธศาสนา ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน  พิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา สวนไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ และในปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น



และนอกจากสถานที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยความรู้ เรื่องราวความสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว  พื้นที่ทั้งหมดยังเต็มไปด้วยความสวยงามจากพันธุ์ไม้หลากหลายสายพันธุ์ มีสัตว์น้อย ใหญ่ หลายชนิดมาเกาะอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น "สวนเวฬุวัน" คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด  "สวนอัมพวัน" คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด   สวนธรรม คือสวนกระถินณรงค์   สวนไทร มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่น  สวนลัฏฐิวัน คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน  สวนสมุนไพร มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน

 ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายและสมดุลของระบบนิเวศ  และยังเป็นสถานที่ ที่มีความร่มรื่น เหมาะแก่การพาครอบครัวมาพักผ่อนหย่อยใจ...... ว่างๆก็เชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านพาครอบครัวมาเที่ยวพุทธมณฑลกันเยอะๆนะครับ เพราะนอกจากจะได้พักผ่อน หย่อนใจแล้ว >>> แถมยังได้รับความรู้มากมายเป็นของฝากกลับไปด้วยนะครับ  ^_^



บูรณาการแหล่งการเรียนรู้กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน


การเรียนรู้ในด้านความรู้

วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม : คือการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เช่น สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาจากสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เรียน รู้คำสั่งสอนและพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าจากมหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน และความรู้ต่างๆทางพระพุทธศาสนา จากการอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา และยังมีความรู้ในด้าน ทำเล ที่ตั้ง ซึ่งมีความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ และยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องราวความเป็นมาของพุทธมณฑล ซึ่งมีอายุยาวนานหลายยุคสมัย
วิชาวิทยาศาสตร์ : คือการได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ  พันธุ์ไม้ต่างๆหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม้ที่มีสรรพคุณทางยารักษาโรค ซึ่งแต่ละต้นจะมีป้ายชื่อติดไว้ทุกต้นทำให้สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับ การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง รวมถึงได้ทราบสรรพคุณเฉพาะของต้นไม้แต่ละต้นด้วย และนอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
วิชาศิลปะ : ต้นไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ สถาปัตยกรรม รูปปั้น อาคารสถานที่ รวมถึง ทัศนียภาพทิวทัศน์ต่างๆ ทั้งมุมมองจากภายใน และภายนอก สามารถเป็นแบบและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ เช่น การวาดภาพ รวมถึง การถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี

การเรียนรู้ในด้านเจตคติ

ปลูกฝังให้เกิดความตระหนึกและเห็นความสำคัญทางพระพุทธศาสนา  การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์เห็นคุณค่าของของสถานที่ โดยร่วมกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป ไม่ทำลายหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อการร่วมกันอนุรักษ์ทัศนียภาพความสมบูรณ์สวยงามของระบบนิเวศ ทั้งพืชและสัตว์

 การเรียนรู้ในกระบวนการต่างๆ

เกิดทักษะการเรียนรู้ และแสวงหาความรู้จากความรู้ในสถานที่แห่งนี้ทั้งทางพระพุทธศาสนาและระบบนิเวศ
เกิดทักษะการสังเกต คือ การสังเกตป้าย หรือเพดานวิหาร ที่มีความรู้ต่างๆบอกไว้ เช่นป้ายที่ติดที่ต้นไม้ทุกต้นที่บอกชื่อและสรรพคุณของต้นนั้นๆ
เกิดทักษะการอยู่ร่วมกัน คือการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต คือนักท่องเที่ยวด้วยกันที่อาจมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน หรือนักท่องเที่ยวกับวิทยากรและการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม คือ การไม่ทำลายระบบนิเวศที่สมดุลของสถานที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาก



การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสมารถเดินทางโดยใช้ถนนพุมธมณฑลสาย 3แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน(อักษะ)เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ)เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม


ที่มา: นาวี ยืนนาน




แหล่งอ้างอิง : พุทธมณฑล.  สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2555, จาก     http://www.dhammathai.org/buddhamonthon/buddhamonthon.php











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น